โรงเรียนชุมชนเทศบาล ๓ (พินิจพิทยานุสรณ์)
231/3 ถ.ศรีเทพ  ตำบลในเมือง  อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม 48000
เบอร์โทรศัพท์ 042511539
ผลงานครู นักเรียน
เผยแพร่ผลงาน เรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD เรื่อง รูปวงกลม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่องานวิจัย        การพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD เรื่อง รูปวงกลม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย                นางสาวรัตนาวดี  ศรีแก้ว  ตำแหน่ง ครู  วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
                         โรงเรียนชุมชนเทศบาล ๓ (พินิจพิทยานุสรณ์)
                         สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนครพนม                                       
ปีการศึกษา       2563
 
                                                                                                      บทคัดย่อ
 
          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  (1)  พัฒนาชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD เรื่อง รูปวงกลม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  80/80 (2) ศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD เรื่อง รูปวงกลม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (3) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เรื่อง รูปวงกลม(4) ศึกษาระดับความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น (5) ศึกษาระดับความพึงพอใจของครูหลังการใช้ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้
          กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนชุมชนเทศบาล ๓ (พินิจพิทยานุสรณ์) สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองนครพนม จำนวน 39 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบสุ่มอย่างง่าย  และครูผู้สอนคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดนครพนม จำนวน 39 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผน และชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ จำนวน10 ชุด 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติการสอนของครู ประกอบด้วย แบบบันทึกเหตุการณ์ขณะทำการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ ประกอบด้วย แบบทดสอบย่อยหลังจากเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้แต่ละเรื่อง แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจของครูและนักเรียน
          การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีวงจรปฏิบัติการวิจัยทั้งหมด 3 วงจร คือ วงจรปฏิบัติการที่ 1 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1 – 3 วงจรปฏิบัติการที่ 2 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4 –7 และวงจรปฏิบัติการที่ 3 ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 8 – 10 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างโดยการทดสอบ t – test คำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
 
ผลการวิจัยพบว่า
  1. ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD เรื่อง รูปวงกลม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.66/88.89 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
  1. ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD เรื่อง รูปวงกลม กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.8209  แสดงว่า ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ทำให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.09
  1. นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสูงกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด โดยมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทุกคนเฉลี่ยร้อยละ 88.89
  1. นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
  1. ครูที่ได้ใช้ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
          นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนสามารถสร้างชิ้นงานบนพื้นฐานของความรู้  ความเข้าใจด้วยตนเองส่งผลให้ชิ้นงานมีคุณภาพ บูรณาการทักษะศตวรรษที่ 21 ได้ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรายวิชาอื่นและในชีวิตประจำวันได้
 
          คำสำคัญ   ชุดกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD
 

โพสเมื่อ : 17 ก.พ. 2566,14:26   อ่าน 50 ครั้ง